tharenfrdeiditjakomsruvi
banner traditional 01
หมู่บ้าน/ชุมชนวัฒนธรรม 
   - หมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไทยพวนตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่  จังหวัดลพบุรี เป็นชุมชนวัฒนธรรมไทยพวน ตำบลบ้านทราย เป็นชุมชนที่มีชาวไทยพวนอาศัยอยู่ สืบเชื้อสายมาจากชาวพวนเมือง เชียงขวาง ประเทศลาวอพยพมาอยู่ที่ตำบลบ้านทราย เมื่อปี พ.ศ.2399 ปัจจุบันชุมชนไทยพวนตำบลบ้านทราย ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงสิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของไทยพวน อาทิเครื่องปั้นดินเผา ใช้ในครัวเรือนการจำลองกวงเฮือน (ห้องนอน) การทำผ้าทอมัดหมี่ เรือโบราณ นางกวัก ตู้จัดแสดงเครื่องแต่งกายนอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประชากรของไทยพวนบ้านทราย ยังมีการสืบทอดประเพณีที่ดั้งเดิมไว้ ได้แก่ ประเพณีเส่อกระจาด หลังเทศกาลออกพรรษา (ช่วงเดือนพฤศจิกายน) ซึ่งจัดก่อนวันเทศน์มหาชาติร่วมกันในวันรุ่งขึ้น ตามที่เชื่อกันว่าการได้ฟังเทศน์มหาชาติ  จบทั้ง 13 กัณฑ์ ในวันเดียวจะทำให้ได้บุญกุศลมาก ประเพณีกำฟ้า ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับวิถีชีวิตของไทยพวนในด้านเกษตรกรรม เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลจะมีการทำบุญข้าวจี่  ข้าวหลาม  ช่วงเย็นจะมีการละเล่น อาทิ การละเล่นนางกวัก การร้องหมอลำพวน การรำวง การเตะหม่าเบี้ย เป็นต้น ในวันนี้จะเป็นวันหยุดงานของชาวไทยพวน
   - ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ตำบลโคกสลุงเป็นชุมชนเก่าแก่มีข้อสันนิษฐานจากหลักฐานซากหินทรายและหินศิลาแลงจำนวนมากในบริเวณวัดโคกสำราญ และการศึกษาวิจัยสืบค้นจากวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มนักวิชาการอื่นๆ อีกหลายสถาบัน พบว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้น่าจะมีการรวมกันสร้างที่อยู่อาศัยในบริเวณชุมชนแห่งนี้ ไม่ต่ำกว่า 260 ปี ชาวไทยเบิ้ง โคกสลุง มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนการดำรงชีวิตที่เรียกว่าเป็นกลุ่ม “วัฒนธรรมไทยเบิ้ง” พูดภาษาถิ่นสำเนียงคล้ายภาษาไทยภาคกลางออกเสียงเหน่อ แต่ไม่เท่าสำเนียงสุพรรณบุรี สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์เด่นชัดบอกความเป็นไทยเบิ้งโคกสลุง 3 ประการ ได้แก่ 1) การแต่งกายและของใช้ที่จำเป็น 2) สำเนียงการพูดออกเสียงเหน่อ 3) นามสกุล จะขึ้นต้นลงท้ายด้วย “สลุง”
   - ชุมชนวัฒนธรรมไทยรามัญบ้านบางขันหมาก ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ชุมชนมอญบางขันหมาก (ไทยรามัญ) ตั้งอยู่ห่างจากเมืองลพบุรีไปทางทิศตะวันตกเพียง 2-3 กิโลเมตร มีวัดสำคัญ ในหมู่บ้านสี่วัด คือ วัดอัมพวัน วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม(วัดทุ่ง)วัดกลาง และวัดโพธิ์ระหัต ตามประวัติศาสตร์กล่าว คนมอญ เริ่มอพยพเข้าสู่ประเทศไทยหลายคราวด้วยกัน นับตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2112-2133 เป็นต้นมา สำหรับชาวมอญ ที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในจังหวัดลพบุรีนั้น น่าจะเป็นมอญที่อพยพมาจากชุมชนชาวมอญอื่นอีกทอดหนึ่งเชื่อว่าน่าจะอพยพมาทางใต้ คือ บ้านบางระกำ และทิศตะวันตก คือ บ้านโพธิ์ข้าวผอก ตำบลบางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี การแต่งกายของชาวมอญบางขันหมาก ชุมชนชาวมอญที่ตำบลบางขันหมากตั้งแต่รุ่นเล็กถึงรุ่นใหญ่ ยังคงแต่งกายแบบวิถีชีวิตชาวมอญดั้งเดิมที่ต้องคล้องสไบที่เรียกว่า “หยาดโด๊ด”ประกอบพิธีกรรมที่วัดของชาวมอญ สามารถใช้ได้ทั้งชายหญิง 
   

                                                               

        ประเพณีและงานประจำปี

 

KingNarai2016 5 

  - งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ 
ชาวลพบุรีเรียกงานนี้ว่า “งานในวัง” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหารายได้นำไปก่อสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์เพราะเป็นเดือนพระราชสมภพของสมเด็จพระนารายฺณ์มหาราช ในการจัดงานได้มีการถอดรูปแบบและจำลองเหตุการณ์ในครั้งประวัติศาสตร์ มีขบวนแห่ของชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีและเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีการแต่งโคลง ฉันท์  กาพย์ กลอน และคำประพันธ์ต่าง ๆ มีร้านจำหน่ายและสาธิตสินค้า ตลอดจนขนมหวานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการจุดประทีปโคมไฟเหมือนราตรีแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในอดีต  และส่งเสริมให้ชาวลพบุรีแต่งกายไทยทั้งเมือง

   

  - งานประเพณีกำฟ้า
เป็นงานบุญพื้นบ้านของชาวไทยพวน ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอบ้านหมี่ จัดขึ้นเพื่อขอพรจากเทพยดาผู้รักษาฟากฟ้า และบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลมักจะถือเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสุกดิบ และวันรุ่งขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำฟ้า  โดยชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญใส่บาตรด้วยข้าวหลามและข้าวจี่  ตกบ่ายมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น มอญซ่อนผ้า ช่วงชัย หม่าเบี้ย และหมากันห่าน

   งานประเพณีแห่พระศรีอาริยเมตไตรย์ วัดไลย์ ประจำปี 2560 - งานประจำปี,ประเพณี  ประจำจังหวัด,77 จังหวัด

   - งานประเพณีชักพระศรีอาริยเมตไตรย์  
เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน หรือเรียกอีกอย่างว่าประเพณีแห่พระศรีอาริย์เมตไตรย์ ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง  คือ  ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี หลวงพ่อจะประดิษฐานบนแท่นตะเฆ่ แล้วให้ประชาชนร่วมกันชักพระไปตามทางหลวง 3028 ท่าโขลง – บ้านหมี่ เริ่มจากวัดไลย์ไปสิ้นสุดที่โรงเรียนวัดท้องคุ้ง ซึ่งตลอดทางจะมีโรงทานสำหรับเลี้ยงอาหารหวาน – คาว บริการประชาชน และวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ไปตามถนนสายเลียบแม่น้ำบางขาม เริ่มจากวัดไลย์ ไปสิ้นสุดที่โรงเรียนวัดเทพอำไพ

   อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

  - งานเทศกาลกระท้อนหวานของดีเมืองลพบุรี
โดยจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่กระท้อนให้ผลิตผลได้เต็มที่เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระท้อน และยังเป็นการผลักดันกระท้อนหวานให้เป็นที่รู้จักของตลาดทั้งในและต่างประเทศอีกทางหนึ่ง กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน เช่น การประกวดผลิตภัณฑ์กระท้อน การประกวดธิดากระท้อนหวานและกระท้อนห่อ การจำหน่ายสินค้าด้านการเกษตร ต้นไม้ สินค้า OTOP และการแสดงของนักเรียน นักศึกษาทุกคืน

   - งานเทศกาลท่องเที่ยวทุ่งทานตะวันบาน
จังหวัดลพบุรีมีการปลูกทานตะวันมากที่สุดในประเทศไทย คือ ประมาณ 200,000–300,000 ไร่ ดอกทานตะวันจะบานสะพรั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติในทุ่งทานตะวันเหลืองอร่ามนับหมื่นไร่

   - งานเลี้ยงโต๊ะจีนลิง
เริ่มมีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2532 สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดลพบุรีจนโด่งดังไปทั่วโลก และถูกจัดเข้าปฏิทินงานประจำปีของจังหวัด จัดขึ้นในวันอาทิตย์  สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ณ บริเวณศาลพระกาฬและพระปรางค์สามยอดมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่สนใจสำหรับนักท่องเที่ยวในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น  การเลี้ยงอาหารที่ตกแต่งอย่างสวยงามแก่ลิง การแสดงพื้นบ้าน

ใส่กระจาด

   - งานประเพณีใส่กระจาด
ภาษาพวน เรียกว่า “เส่อกระจาด” เป็นประเพณีของชาวไทยพวนซึ่งถือปฏิบัติกันในเขตอำเภอบ้านหมี่ มักจัดให้มีขึ้นในงานบุญเทศน์มหาชาติ ส่วนมากจะกำหนดในช่วงเทศกาลออกพรรษา (เดือน 11) ข้างแรมก่อนถึงวันใส่กระจาด 1 วัน ชาวบ้านจะช่วยกันทำขนมห่อข้าวต้ม ตำข้าวปุ้น รุ่งขึ้นจะเป็นวัน ใส่กระจาด ชาวบ้านจะนำของ เช่น กล้วย อ้อย ส้ม รูปเทียน หรืออื่น ๆ มาใส่กระจาดตามบ้านของคนรู้จัก เจ้าของบ้านจะนำอาหารที่เตรียมไว้มาเลี้ยงรับรองแขกเมื่อแขกกลับ เจ้าของบ้านจะนำข้าวต้มมัดฝากไปให้ เรียกว่า  “คืนกระจาด” ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันเทศน์มหาชาติ จะนำของที่แขกมาใส่กระจาด ทำเป็นกัณฑ์  แล้วนำไปถวายพระที่วัด โดยถือว่าการทำบุญเทศมหาชาตินี้เป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี

          จังหวัดลพบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายทั้งด้านเชิงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชน จากการสำรวจจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่เข้าชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และพระปรางค์สามยอด บ้านวิชาเยนทร์ พบว่ามีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนลดลง ผู้เยี่ยมเยือนนิยมมาเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นฤดูหนาว โดยนักท่องเที่ยวที่แวะเที่ยวก่อนที่จะเดินทางไปพักยังจังหวัดอื่นต่อหรือแบบเดินทางไปเช้า-เย็นกลับ หรือเรียกว่า “นักทัศนาจร”

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น

จังหวัดลพบุรี มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เนื่องจากเป็นดินแดนประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานบันทึกของชาวฝรั่งเศสต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ  เริ่มอพยพเข้าสู่จังหวัดลพบุรี เนื่องจากภาวะสงคราม การกวาดต้อนผู้คนมาเป็นเชลยหรืออพยพย้ายถิ่นฐานของคนอีสาน เพื่อเป็นแรงงานในการก่อสร้างเมือง ทำให้จังหวัดลพบุรี มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อย่างน้อยมี 5 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ ได้แก่ กลุ่มคนไทยภาคกลางพื้นถิ่น  กลุ่มไทยเบิ้ง  กลุ่มมอญ (ไทยรามัญ)  กลุ่มลาวพวน หรือ ไทยพวน และกลุ่มจีน   

กลุ่มไทยเบิ้ง เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยมาสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 อพยพมาจากเมืองเวียงจันท์ประเทศลาวอาศัยบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก มีชุมชนใหญ่อยู่ที่บ้านมะนาวหวาน บ้านโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม และบ้านชัยบาดาล อำเภอชัยบาดาล อ.โคกสำโรง อ.สระโบสถ์
กลุ่มแง้ว มีถิ่นฐานอยู่ที่เวียงจันทร์และหลวงพระบาง ได้อพยพมา เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ลพบุรี ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ ตำบลโคกลำพาน อำเภอเมืองลพบุรี 
กลุ่มมอญ (ไทยรามัญ) มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสองฝั่งริมแม่น้ำลพบุรี สันนิษฐานว่าเป็นเป็นชาวมอญจากเมืองมอญ อพยพตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามา หลักประกาศเอกราช ณ เมืองแครง 
กลุ่มลาวพวน หรือ ไทยพวน กลุ่มนี้เคยมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ประเทศลาว เมืองเชียงขวาง ได้อพยพมาหลายครั้ง ตั้งถิ่นฐานในเขตภาคกลางของไทยมานานนับแต่กรุงศรีอยุธยา จะอาศัยอยู่มากที่อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอเมืองลพบุรี
กลุ่มจีน เป็นกลุ่มที่เข้ามาอาศัยมานาน ชอบค้าขายกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆของจังหวัดลพบุรี แต่กลุ่มที่ทำการศึกษา คือ กลุ่มจีน ที่ตำบลหนองเต่าเป็นชุมชนจีนเก่าแก่ ซึ่งยังคงรักษาวัฒนธรรมไว้เป็นอย่างดี

กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดลพบุรี มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและประเพณี รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งคงรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรม ได้แก่ ภาษา การแต่งกาย และขนบธรรมเนียมประเพณี ไว้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้นจังหวัดลพบุรีจึงมีความพร้อมของทุนทางสังคมที่จะนำไปพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ต่อไป

Don't have an account yet? Register Now!

Sign in to your account