tharenfrdeiditjakomsruvi

 หอมละมุน 5 banner royal

banner role 01
สรุปหน้าที่ในความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี

1. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้เชื่อมโยงและสอดคล้องกับผังเมืองรวม พัฒนาระบบการบริการ สาธารณูปโภค สาธารณูปการ รวมถึงการคมนาคมขนส่ง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุมทั่วถึง
2. พัฒนาเศรษฐกิจของท้องถิ่นทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว อุตสาหกรรม เกษตรกรรม หัตถกรรมและสินค้า OTOP บนพื้นฐาน ของศักยภาพที่แข่งขันได้และยั่งยืน
3. อนุรักษ์ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างประหยัดคุ้มค่า และสามารถนำพลังงานทดแทนมาใช้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น
4. ส่งเสริมฟื้นฟูอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ฟื้นฟูบูรณะโบราณสถาน/สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์
5. ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ วิถีการประกอบอาชีพการดำรงชีวิต ที่เข้มแข็งนำไปสู่สังคมที่มีคุณภาพ
6. บริหารจัดการองค์กรตามหลักการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดีให้มีประสิทธิภาพ
7. ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่น

อำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด

และพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ

๑. พระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ (แก้ไขเพิ่มเติม ถึงฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๖๒)
     มาตรา ๔๕ องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด ดังต่อไปนี้

          (๑) ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย

          (๒) จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

          (๓) สนับสนุนสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น

          (๔) ประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของสภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

          (๕) แบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่สภาตำบลและราชการส่วนท้องถิ่นอื่น

          (๖) อำนาจหน้าที่ของจังหวัดตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๔๙๘ เฉพาะภายในเขตสภาตำบล

          (๖/๑) ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และสนับสนุนในการดูแลการจราจรและการรักษาความสงบเรียบร้อย

          (๗) คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

          (๗ ทวิ) บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น

          (๗ ตรี) จัดการ ส่งเสริม และสนับสนุนการจัดการศึกษา รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก

          (๘) จัดทำกิจการใด ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นที่อยู่ในเขตองค์การบริหารส่วนจังหวัด และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมกันดำเนินการหรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          (๙) จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด

          บรรดาอำนาจหน้าที่ใดซึ่งเป็นของราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาค อาจมอบให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดปฏิบัติได้ ทั้งนี้ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

          มาตรา ๔๕/๑ การปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน โดยใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และให้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนจังหวัด การจัดทำงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบ การประเมินผลการปฏิบัติงาน และการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการนั้น และหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด


     มาตรา ๔๖ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจจัดทำกิจการใด ๆ อันเป็นอำนาจหน้าที่ของราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นที่อยู่นอกเขตจังหวัดได้ เมื่อได้รับความยินยอมจากราชการส่วนท้องถิ่นอื่นหรือองค์การบริหารส่วนจังหวัดอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
     มาตรา ๔๘ องค์การบริหารส่วนจังหวัดอาจให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นอื่นโดยเรียกค่าบริการได้ โดยตราเป็นข้อบัญญัติ
     มาตรา ๕๐ การดำเนินกิจการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีลักษณะเป็นการพาณิชย์อาจทำได้ โดยการตราเป็นข้อบัญญัติ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

๒. พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๒
     มาตรา ๑๗ ภาย ใต้บังคับมาตรา ๑๖ ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง ดังนี้
          (๑) การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
          (๒) การสนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
          (๓) การประสานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
          (๔) การแบ่งสรรเงินซึ่งตามกฎหมายจะต้องแบ่งให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
          (๕) การคุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
          (๖) การจัดการศึกษา
          (๗) การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
          (๘) การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
          (๙) การส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม
          (๑๐) การจัดตั้งและดูแลระบบบำบัดน้ำเสียรวม
          (๑๑) การกำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูลรวม
          (๑๒) การจัดการสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่างๆ
          (๑๓) การจัดการและดูแลสถานีขนส่งทั้งทางบกและทางน้ำ
          (๑๔) การส่งเสริมการท่องเที่ยว
          (๑๕) การพาณิชย์ การส่งเสริมการลงทุน และการทำกิจการไม่ว่าจะดำเนินการเองหรือร่วมกับบุคคลอื่นหรือจากสหการ
          (๑๖) การสร้างและบำรุงรักษาทางบกและทางน้ำที่เชื่อมต่อระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
          (๑๗) การจัดตั้งและดูแลตลาดกลาง
          (๑๘) การส่งเสริมการกีฬา จารีตประเพณี และวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น
          (๑๙) การจัดให้มีโรงพยาบาลจังหวัด การรักษาพยาบาล การป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ
          (๒๐) การจัดให้มีพิพิธภัณฑ์และหอจดหมายเหตุ
          (๒๑) การขนส่งมวลชนและการวิศวกรรมจราจร
          (๒๒) การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
          (๒๓) การจัดให้มีระบบรักษาความสงบเรียบร้อยในจังหวัด
          (๒๔) จัดทำกิจการใดอันเป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ที่อยู่ในเขต และกิจการนั้นเป็นการสมควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นร่วมกันดำเนินการ หรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ ทั้งนี้ ตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
          (๒๕) สนับสนุนหรือช่วยเหลือส่วนราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในการพัฒนาท้องถิ่น
          (๒๖) การให้บริการแก่เอกชน ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น
          (๒๗) การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
          (๒๘) จัดทำกิจการอื่นใดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น กำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
          (๒๙) กิจการอื่นใดที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
     มาตรา ๒๑ บรรดาอำนาจและหน้าที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐตามกฎหมายรัฐอาจมอบอำนาจและหน้าที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแทนได้
          ในการดำเนินงานตามอำนาจและหน้าที่ที่ระบุไว้ในมาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ และมาตรา ๑๙ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจร่วมมือกันดำเนินการหรืออาจร้องขอให้รัฐหรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น แล้วแต่กรณี ดำเนินการแทนได้

๓. ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดอำนาจ และหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวัน ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๖
     ข้อ ๑ ลักษณะของการดําเนินงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดในการให้บริการสาธารณะในเขตจังหวัด
          (๑) ดําเนินงานในโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่เกินศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในเขตจังหวัด
          (๒) เป็นการดําเนินงานที่ปรากฏถึงกิจกรรมที่เป็นภาพรวมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัด ที่มุ่งต่อประโยชน์ของท้องถิ่นหรือประชาชนเป็นส่วนรวม และไม่เข้าไปดำเนินงานที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัดสามารถดําเนินการได้เอง
          (๓) เข้าไปดําเนินงานตามแผนงานหรือโครงการในลักษณะที่มีความคาบเกี่ยวต่อเนื่องหรือ มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากกว่า ๑ แห่งขึ้นไป
     ข้อ ๒ ในการดำเนินการตามอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ตามข้อ ๑ องค์การบริหารส่วนจังหวัดควรจะดำเนินการเพื่อให้เป็นไปในลักษณะดังนี้ คือ
          (๑) การจัดทําแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเองและประสานการจัดทําแผนจังหวัด โดยการสร้างและพัฒนาระบบการประสานแผนการพัฒนาท้องถิ่นในจังหวัดเพื่อนําไปสู่การใช้จ่ายงบประมาณในการพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความสมดุลย์และคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ
          (๒) การก่อสร้างและบํารุงรักษาโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หรือมีการ เกี่ยวเนื่องกันหลายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือในลักษณะที่เป็นเครือข่ายหลักในการเชื่อมโยงกับแผนงานโครงการที่ดําเนินการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัด
          (๓) การจัดการศึกษา สาธารณสุข การสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในระดับจังหวัด และไม่เป็นการซ้ำซ้อนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายศักยภาพและมุ้งต่อผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาการศึกษา สาธารณสุข การสังคมสงเคราะห์ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัด
          (๔) การส่งเสริมจารีต ประเพณี วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การส่งเสริมการลงทุน และพาณิชยกรรมของจังหวัด
          (๕) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทําหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการกําจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูลรวม การดูแลระบบบําบัดน้ำเสียรวมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัด
          (๖) ให้บริการด้านเทคนิค วิชาการ เครื่องมือ เครื่องจักรกล บุคลากร แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในเขตจังหวัด
          (๗)  ดําเนินการตามภารกิจที่ได้รับการถ่ายโอนภารกิจตามที่กําหนดไว้ในแผนปฏิบัติ การกําหนดขั้นตอนการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมถ่ายโอนที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด “มีหน้าที่ที่ต้องทํา”
     ข้อ ๓  การสนับสนุนงบประมาณให้แก่ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค จะกระทําได้แต่เฉพาะกรณีที่อยู่ในอํานาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่จะต้องดําเนินการเอง แต่ไม่สามารถดําเนินการเองได้ เนื่องจากเป็นงานปฏิบัติซึ่งจะต้องใช้เทคนิควิชาการสูง และหน่วยงานของรัฐนั้นมีความสามารถที่จะดําเนินการได้ดีกว่า และผลของการให้การสนับสนุนนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการดําเนินงานตามอํานาจหน้าที่ ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด
          การสนับสนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นในจังหวัด จะกระทําได้ในกรณีที่เร่งด่วนและจำเป็นหากไม่ดําเนินการจะก่อให้เกิด ความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประชาชน
          การให้การสนับสนุนแก่ประชาคม องค์กรประชาชน ควรเป็นไปในลักษณะของการส่งเสริมความสามารถดำเนินการ โดยใช้ศักยภาพของตนเองในการบริหารจัดการในลักษณะของการร่วมคิด ร่วมทํา ร่วมรับผลประโยชน์ โดยไม่ให้การสนับสนุนในลักษณะของการให้สิ่งของ หรือการเข้าไปดำเนินการแทน
     ข้อ ๔  หากมีปัญหา ข้อขัดข้อง ในการดำเนินงานตามอำนาจและหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตามที่กำหนด ไว้ในข้อ ๑ ข้อ ๒ และ ข้อ ๓ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่ในการวินิจฉัยและดำเนินการตามประกาศนี้

๔. ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (ฉบับที่ ๒) ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
     ให้ยกเลิกวรรคหนึ่งและวรรคสองของข้อ ๓ ของประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง กำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดระบบบริการสาธารณะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๔๖

๕. ประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง หลักเกณฑ์ในการสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การ บริหารส่วนตำบลในการให้บริการสาธารณะ ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒
     ข้อ ๑ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล อาจสนับสนุนงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในจังหวัดในภารกิจด้านการศึกษาหรือด้านการสาธารณสุขได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
          ภารกิจอื่นนอกจากภารกิจด้านการศึกษาหรือด้านการสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามวรรคหนึ่งจะสนับสนุนได้ เมื่อได้รับ ความเห็นชอบจากคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดเป็นรายกรณีไป
     ข้อ ๒ การสนับสนุนงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามข้อ ๑ จะกระทำได้ต่อเมื่อ
          (๑) ภารกิจที่จะสนับสนุนจะต้องเป็นภารกิจที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้สนับสนุน
          (๒) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้สนับสนุน ต้องกำหนดโครงการอันเป็นภารกิจหลักของตนเองตามแผนพัฒนาท้องถิ่นที่กำหนดไว้ใน งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเสียก่อน แล้วจึงสนับสนุนงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ
          (๓) การให้การสนับสนุนงบประมาณแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ต้องคำนึงถึงสถานะทาง  การคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้สนับสนุนด้วย
     ข้อ ๓ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ขอรับการสนับสนุนเสนอโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ที่จะให้การสนับสนุนแล้วแต่กรณี พร้อมทั้งเหตุผลและรายละเอียดว่าโครงการมีงบประมาณไม่เพียงพอในการดำเนินการและมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน
          การเสนอขอรับการสนับสนุนตามวรรคหนึ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ขอรับการสนับสนุนต้องแสดงให้เห็นถึงกิจกรรมในโครงการที่เสนอ โดยแบ่งส่วนที่ผู้รับการสนับสนุนมีงบประมาณของตนเองและส่วนที่จะขอรับการสนับสนุนให้ชัดเจน
     ข้อ ๔ เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้สนับสนุนเห็นสมควรสนับสนุนโครงการตามข้อ ๓ ให้นำโครงการนั้นบรรจุไว้ในข้อบัญญัติงบประมาณ รายจ่ายประจำปีหรือข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
          ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและมีความจำเป็นต้องดำเนินการตามโครงการโดยด่วนจะไม่ ดำเนินการตามวรรคหนึ่งก็ได้ แต่ให้รายงานการสนับสนุนดังกล่าวต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดทราบด้วย
     ข้อ ๕ การสนับสนุนขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ให้สนับสนุนเป็นเงิน บุคลากร วัสดุครุภัณฑ์ และปรับปรุง ซ่อมแซม หรือก่อสร้างอาคาร ตลอดจนสิ่งก่อสร้างอื่น ได้ไม่เกินร้อยละสิบของรายได้ของปีงบประมาณที่ผ่านมาโดยไม่รวมเงินอุดหนุนจากรัฐ
          การคำนวณวงเงินงบประมาณตามวรรคหนึ่ง ให้รวมถึงงบประมาณที่สนับสนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ส่วนราชการ หรือ หน่วยงานอื่นของรัฐ ในเขตจังหวัดด้วย
          การสนับสนุนตามวรรคหนึ่ง จะสนับสนุนโดยใช้งบประมาณของตนและดำเนินการแทนก็ได้
     ข้อ ๘ กรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด มีความจำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณในโครงการใดเกินอัตราหรือไม่อาจดำเนินการ ตาม หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ ให้เสนอต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัดเป็นผู้พิจารณาอนุมัติเป็นรายกรณีไป

๖. กฎกระทรวง พ.ศ.๒๕๔๑ ออกตามความในพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. ๒๕๔๐ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๔๑
     ให้กิจการดังต่อไปนี้เป็นกิจการที่ราชการส่วนท้องถิ่นอื่นสมควรให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด ร่วมดำเนินการ หรือให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดทำ
     ๑. จัดให้มีน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร
     ๒. กำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
     ๓. บำบัดน้ำเสีย
     ๔. บำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
     ๕. วางผังเมือง
     ๖. จัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ซึ่งอย่างน้อยต้องเป็นทางหลวงชนบทตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง
     ๗. จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำ
     ๘. จัดให้มีท่าเทียบเรือ ท่าข้าม ที่จอดรถ และตลาด
     ๙. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
     ๑๐. รักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
     ๑๑. จัดการศึกษา ทำนุบำรุงศาสนา และบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
     ๑๒. จัดให้มีและบำรุงสถานที่สำหรับการกีฬา สถานพักผ่อนหย่อนใจ สวนสาธารณะ และสวนสัตว์ ตลอดจนสถานที่ประชุมอบรมสำหรับราษฎร
     ๑๓. จัดให้มีการสังคมสงเคราะห์และการสาธารณูปการ
     ๑๔. ป้องกันและบำบัดรักษาโรค 
     ๑๕. จัดตั้งและบำรุงสถานพยาบาล
     ๑๖. ส่งเสริมการท่องเที่ยว
     ๑๗. ส่งเสริมและแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ
     ๑๘. กิจการที่ได้มีการกำหนดไว้ในแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนา อบจ.



  • ด้านกายภาพ
 1. ที่ตั้งของหมู่บ้านหรือชุมชนหรือตำบล
       จังหวัดลพบุรี ตั้งอยู่ภาคกลางของประเทศไทย บนฝั่งซ้ายของแม่น้ำลพบุรี มีระยะทางห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศเหนือตามเส้นทางถนนพหลโยธิน 153 กิโลเมตร หรือตามเส้นทางรถไฟประมาณ 133 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 6,199.72 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 3,874,846 ไร่
         อาณาเขตจังหวัดลพบุรี มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดใกล้เคียง ดังนี้
         ทิศเหนือ  ติดต่อกับ อำเภอตากฟ้าและอำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ และอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์

         ทิศใต้      ติดต่อกับ อำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอพระพุทธบาท และอำเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี

         ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี

         ทิศตะวันตก     ติดต่อกับ อำเภอเมืองสิงห์บุรี และอำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี อำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง และอำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์

  province
 2. ลักษณะภูมิประเทศ

ลักษณะภูมิประเทศจังหวัดลพบุรี จากรายงานการสำรวจของกรมพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2532 สามารถแบ่งตามธรณีสัณฐาน ได้ดังนี้
  1) ที่ราบน้ำท่วมถึง เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำใหญ่ในฤดูน้ำหลากแต่ละปี น้ำจากแม่น้ำลำคลองจะไหลท่วมบริเวณนี้แล้วจะพัดพาเอาตะกอนมาทับถมกันทุกปี ทำให้เกิดมีสภาพเป็นที่ราบ มีความลาดเทน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ พื้นที่กว้างใหญ่อยู่ในอำเภอท่าวุ้ง บ้านหมี่และอำเภอเมืองลพบุรี พื้นที่บริเวณนี้จะสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2 - 20 เมตร ส่วนการทับถมของตะกอนใหม่จากแม่น้ำป่าสักจะทำให้เกิดเป็นที่ราบลุ่มเป็นแนวแคบ ๆ ตามความยาวของแม่น้ำ ซึ่งไหลผ่านอาณาเขตอำเภอชัยบาดาล และอำเภอพัฒนานิคมจากทิศเหนือลงทิศใต้ ที่ราบลุ่มบริเวณนี้จะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 25 - 60 เมตร บริเวณพื้นที่ราบลุ่มนี้ถูกใช้ประโยชน์ในการทำนาส่วนใหญ่และได้ผลดี
  2) ลานตะพักน้ำกลางเก่ากลางใหม่รวมทั้งเนินตะกอนรูปพัด ส่วนใหญ่พบเกิดอยู่ติดต่อกับที่ราบน้ำท่วมถึง ลักษณะสภาพส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบเรียบมีความลาดเทน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ พบเป็นบริเวณกว้าง ในเขตอำเภอบ้านหมี่ อำเภอเมืองลพบุรี และอำเภอโคกสำโรง โดยจะมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 8 - 20 เมตร สำหรับเนินตะกอนรูปพัด พบเกิดเป็นส่วนน้อยและมักอยู่บริเวณเชิงเขา การใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ทำนาซึ่งให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ดี
   3) ลานตะพักน้ำเก่า เกิดจากการทับถมของตะลำน้ำที่มาทับถมกันนานแล้ว โดยแบ่งเป็นลานตะกอนพักน้ำระดับต่ำซึ่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 20 - 50 เมตร และลานตะพักน้ำระดับสูง ซี่งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50 - 70 เมตร ลานตะพักน้ำระดับต่ำส่วนใหญ่พบอยู่ติดต่อกับลานตะพักน้ำกลางเก่ากลางใหม่ มีความลาดเทน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ และพบเป็นบริเวณเล็กน้อย ในเขตอำเภอโคกสำโรงและอำเภอพัฒนานิคม ใช้ประโยชน์ในการทำนาเป็นส่วนใหญ่ ให้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ ส่วนลานตะพักน้ำระดับสูงมีพื้นที่ติดต่อและสูงขึ้นมาจากลานตะพักน้ำระดับต่ำ สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นใหญ่ มีความลาดเท 2 - 8 เปอร์เซ็นต์ พบเป็นบริเวณเล็กน้อยในเขตอำเภอโคกสำโรงและอำเภอพัฒนานิคมใช้ประโยชน์ในการทำไร่
   4) พื้นผิวที่ถูกกัดกร่อนและเนินเขา พื้นที่เป็นลูกคลื่นส่วนใหญ่มีความลาดเท ประมาณ 2 -16 เปอร์เซ็นต์ สภาพภูมิประเทศแบบนี้จะพบเป็นบริเวณกว้างในเขตอำเภอชัยบาดาล อำเภอพัฒนานิคม อำเภอโคกสำโรงและทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอเมืองลพบุรี ส่วนใหญ่ที่ดินจะใช้ประโยชน์ในการปลูกพืชไร่
    5) ภูเขา พื้นที่บริเวณนี้เกิดจากการโค้งตัวและการยุบตัวของผิวโลก ทำให้มีระดับความสูงต่ำต่างกันมาก มีความลาดเทมากกว่า 16 เปอร์เซ็นต์  และมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100 - 750 เมตร  พบอยู่กระจัดกระจายในอำเภอชัยบาดาล อำเภอพัฒนานิคม อำเภอโคกสำโรง และทางด้านทิศตะวันออกของอำเภอเมืองลพบุรี ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำกสิกรรม บริเวณนี้เป็นที่ลาดชันเชิงซ้อน
           กล่าวโดยสรุป สภาพภูมิประเทศของจังหวัดลพบุรี อาจแบ่งได้เป็น 2 บริเวณ คือ บริเวณพื้นที่ราบสลับเนินเขาและภูเขา ครอบคลุมพื้นที่ทางทิศตะวันออกของอำเภอเมืองลพบุรีบางส่วน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอบ้านหมี่ ด้านเหนือและด้านใต้ของอำเภอโคกสำโรง พื้นที่เกือบทั้งหมดของอำเภอสระโบสถ์ อำเภอโคกเจริญ อำเภอท่าหลวง อำเภอชัยบาดาลและอำเภอพัฒนานิคม คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด อีกบริเวณหนึ่งเป็นพื้นที่ราบลุ่มครอบคลุมพื้นที่อำเภอท่าวุ้ง ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองลพบุรี บางส่วนของอำเภอบ้านหมี่และอำเภอโคกสำโรง คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด

 3. ลักษณะภูมิอากาศ
      จังหวัดลพบุรีมีลักษณะร้อนชื้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุม 2 ชนิด คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในฤดูหนาว และลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ในฤดูฝน ทำให้มีฝนตกหนักในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน และมีสถานีตรวจอากาศ 2 แห่ง คือ สถานีตรวจอากาศลพบุรี และสถานีตรวจอากาศบัวชุม สภาวะอากาศโดยทั่วไปร้อนอบอ้าวเกือบตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีมีค่าประมาณ 28 องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามอุณหภูมิจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่และฤดูกาล ในช่วงฤดูร้อนอุณหภูมิสูงสุดในตอนบ่าย ปกติจะสูงถึงเกือบ 40 องศาเซลเซียส หรือมากกว่านั้น ในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม โดยเฉพาะเดือนเมษายนจะเป็นเดือนที่มีอากาศร้อนจัดที่สุดในรอบปี ส่วนฤดูหนาวอุณหภูมิต่ำสุดในตอนเช้ามืด จะลดลงอยู่ในเกณฑ์หนาวถึงหนาวจัด โดยเฉพาะเดือนธันวาคมถึงมกราคมเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวมากที่สุดในรอบปี

สนามกีฬาพระราเมศวร

ความเป็นมา แหล่งที่ตั้ง • แผนที่ • เวลาทำการ • ค่าบริการ 

สมัครสมาชิก • ขออนุญาตใช้สนามกีฬา  ติดต่อ • ภาพกิจกรรม 

สนามกีฬา

 สนามกีฬา1  สนามกีฬา2

 

 

ประวัติความเป็นมา

            สนามกีฬาจังหวัดลพบุรี(สนามกีฬาพระราเมศวร) ถูกถ่ายโอนภารกิจให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี โดยพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ตามกำหนดแผนขั้นตอนการกระจายอำนาจ (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2545 ด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต จากการกีฬาแห่งประเทศไทย และสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

            สนามกีฬาพระราเมศวรเป็นสนามกีฬาอเนกประสงค์ประจำจังหวัดลพบุรี สนามกีฬาระดับมาตรฐานแห่งหนึ่งที่ใช้ในการจัดแข่งขันกีฬาในระดับชุมชน จังหวัดหรือระดับภูมิภาคและยังเป็นสวนสาธารณะสำหรับพักผ่อนหย่อนใจและการออกกำลังกายของประชาชนชาวลพบุรี

แหล่งที่ตั้ง

            สนามกีฬาพระราเมศวรตั้งอยู่บน ถนนนารายณ์มหาราช ตำบลทะเลชุบศร อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี ใกล้กับศาลากลางจังหวัดลพบุรี ภายในมีสนามต่าง ๆ ที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาหลากหลายประเภท เช่น กรีฑา ฟุตบอล ฟุตซอล ว่ายน้ำ แบดมินตัน บาสเกตบอล เทนนิส เทเบิลเทนนิส เปตอง

      มีหน่วยงานราชการอยู่ภายใน 2 หน่วยงาน ได้แก่ 1.สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดลพบุรี 2.สำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดลพบุรี   

แผนที่

 

แผนที่สนามกีฬาคำอธิบาย 01

ดาวน์โหลดไฟล์แผนที่ https://bit.ly/3ILmGxh

เวลาทำการ

            ปัจจุบัน สนามกีฬาพระราเมศวร อยู่ในความรับผิดชอบและการกำกับดูแลของ กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี ได้เปิดทำการตั้งแต่เวลา 05.00-20.00 น.เป็นประจำทุกๆวัน ให้ประชาชนชาวลพบุรีได้เข้ามาออกกำลังกายเดินวิ่งในสนามลู่วิ่งที่ทันสมัย เครื่องออกำลังกายกลางแจ้งที่มีมากมายเพียงพอสำหรับทุกท่านและพักผ่อนหย่อนใจกับบรรยากาศร่มรื่นจากสวนสุขภาพและต้นไม้ตามธรรมชาติ

             ทั้งนี้ช่วงเวลา 09.00-20.00น. ระหว่างวันจันทร์ถึงวันเสาร์ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรีได้สรรหากิจกรรมต่างๆและเปิดให้บริการอุปกรณ์ที่ทันสมัยมากที่สุดแห่งหนึ่งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (จัดเก็บค่าบริการเพิ่มเติ่ม) อาทิเช่น อาคารโรงยิมกาฬวรรณดิสภายในมีสนามแบดมินตัน จำนวน 8 คอร์ด ห้องเทเบิลเทนนิส ห้องบริหารกล้ามเนื้อ 2 ห้อง และห้องฟิตเนส 2 ห้อง สระว่ายน้ำจามเทวี สระมาตรฐานขนาด 50 เมตร โรงยิมพิสุทธิธรรมธาดาสหรับจัดกิจกรรมจัดการแข่งขันกีฬาวอลเล่ย์บอล บาสเกตบอล ฟุตบอล 7 คน ฟุตซอล เป็นต้น

เวลาทำการ
เปิดทุกวัน เวลา
 ประตูสนามกีฬา  05.00 ถึง 20.00
   
จันทร์-เสาร์ รอบเช้า   รอบเย็น
 สระว่ายน้ำจามเทวี ปิดให้บริการ ปิดให้บริการ
ห้องบริหารกล้ามเนื้อ  09.00-12.00 15.00-19.00
ห้องฟิตเนส 09.00-12.00 15.00-19.00
แบดมินตัน 09.00-12.00 15.00-19.00
เทเบิลเทนนิส 09.00-12.00 15.00-19.00
   
สนามเทนนิส   จันทร์-เสาร์ เวลา 07.00-20.00 น.
สนามฟุตซอล (ในร่ม)  ทุกวัน เวลา 07.00-20.00 น.
สนามฟุตซอล (ดาดฟ้าอาคารจอดรถ)  จันทร์-เสาร์ เวลา 16.00-20.00 น.
สนามฟุตบอลหญ้าเทียม   จันทร์-เสาร์ เวลา 16.00-20.00 น.
ห้องสมุด อบจ.ลพบุรี จันทร์-เสาร์ เวลา 09.00-16.00 น.

หมายเหตุ : เวลาอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมของกิจกรรมในวันนั้น ๆ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์

                  สระว่ายน้ำปิดให้บริการ เนื่องจากอยู่ระหว่างกระบวนการรื้อถอนสร้างอาคารสระว่ายน้ำหลังใหม่

 

ค่าบริการ
ค่าใช้บริการ (บาท/ครั้ง)  บุคคลทั่วไป สมาชิก
อายุต่ำกว่า
18 ปี
 อายุ 18
ปีขึ้นไป
อายุต่ำกว่า
18 ปี
อายุ
18-60 ปี
อายุเกิน
60 ปี
ห้องบริหารกล้ามเนื้อ
และห้องฟิตเนส
20 30 10 20 ยกเว้น
แบดมินตัน 20 40 10 20
เทเบิลเทนนิส 20 30 10 20
เทนนิส 80 100 20 20
ว่ายน้ำ 20 40 10 20

 

การสมัครสมาชิกสนามกีฬาพระราเมศวร

                ผู้ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสนามกีฬาจังหวัดลพบุรี ให้ยื่นใบสมัครต่อเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการองค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี หรือ โรงยิมกาฬวรรณดิส ภายในสนามกีฬาพระราเมศวร ในวันและเวลาราชการพร้อมเอกสารหลักฐาน และชำระค่าธรรมเนียม ดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 เตรียมเอกสาร-กรอกใบสมัคร
◊ รูปถ่ายหน้าตรง ขนาด 1 นิ้ว ถ่ายไว้ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป
◊ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวข้าราชการ บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบัตรประจำตัวอื่นซึ่งปรากฏภาพถ่ายของบุคคลที่ทางราชการออกให้ จานวน 1 ฉบับ
◊ อัตราค่าธรรมเนียมรายปี
            » ประชาชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี ค่าธรรมเนียม ปีละ 100 บาท
            » ประชาชนที่อายุ 18 - 60 ปี ค่าธรรมเนียม ปีละ 300 บาท
            » ประชาชนที่อายุเกิน 60 ปี ไม่มีค่าธรรมเนียม

ขั้นตอนที่ 2 การออกบัตรสมาชิก
            องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรีจะออกบัตรประจำตัวสมาชิกให้แก่ผู้สมัครที่ได้รับอนุมัติ (2 วันทำการ)

ขั้นตอนที่ 3 เข้าใช้บริการสนามกีฬา
            ผู้ถือบัตรสมาชิกสนามกีฬาจังหวัดลพบุรี มีสิทธิเข้าใช้บริการสนามกีฬาได้ทุกประเภทโดยต้องชำระค่าใช้บริการตามอัตราที่กำหนด บัตรสมาชิกมีอายุ 1 ปี นับแต่วันออกบัตร เมื่อบัตรสมาชิกหมดอายุลง หากประสงค์จะเป็นสมาชิกสนามกีฬาจังหวัดลพบุรีต่อไป ให้ยื่นคำขอต่ออายุบัตรตามแบบฟอร์มที่กำหนดต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน นับแต่วันหมดอายุ โดยนำบัตรที่หมดอายุมาใช้เป็นหลักฐานในการต่ออายุบัตร ตามหลักเกณฑ์ดังนี้

◊ ค่าธรรมเนียมทำบัตร
            » การทำบัตรใหม่ ค่าธรรมเนียม 30 บาท
            » ออกบัตรแทน กรณีบัตรหายหรือชำรุด ค่าธรรมเนียม 30 บาท
            » ต่ออายุบัตร ไม่มีค่าธรรมเนียม
บริการขออนุญาตใช้สนามกีฬา

      ผู้ใดประสงค์จะใช้สนามกีฬาจังหวัดลพบุรี เพื่อจัดกิจกรรมใด ให้ยื่นคำขอเป็นหนังสือต่อองค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี ล่วงหน้าก่อนถึงวันจัดกิจกรรมไม่น้อยกว่า 15 วัน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวอื่นซึ่งปรากฏภาพภ่ายของบุคคลที่ทางราชการออกให้ และผู้ขออนุญาตใช้สนามกีฬาจะต้องชำระอัตราค่าธรรมเนียมการจัดกิจกรรมและอื่นๆ ซึ่งมีรายละเอียดตาม ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี เรื่อง การบริหารจัดการและการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้สนามกีฬาจังหวัดลพบุรี พ.ศ.2561 (คลิกเปิดลิ้งค์) 

       หากผู้ขอใช้บริการสนามกีฬาได้ก่อให้เกิดความเสียหายอันเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมจะต้องรับผิดชอบซ่อมแซมให้มีสภาพดีดังเดิม หรือชดใช้ค่าเสียหายตามกฎหมายให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรี ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งเป็นหนังสือ กรณีที่มีการเรียกเก็บเงินประกันความเสียหายไว้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลพบุรีจะหักส่วนความเสียหายจากเงินประกันนั้น และคืนส่วนที่เหลือ หรือคืนให้เต็มจำนวน แล้วแต่กรณี

ยื่นเอกสารได้สองช่องทาง
ยื่นคำขอด้วยตนเอง - กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ชั้น ๒  หรือ
ยื่นคำขอผ่านระบบออนไลน์ - E-Service บริการขอใช้สนามกีฬาพระราเมศวร

  ☎ ติดต่อสอบถาม ☎
กองการศึกษา ศาสนา
และวัฒนธรรม
0-3641-1404 ต่อ 108
สระว่ายน้ำจามเทวี 0-3641-2844
โรงยิมกาฬวรรณดิส 0-3662-0705 หรือ 0-3641-1404 ต่อ 124
Facebook  สนามกีฬาพระราเมศวร

 

กิจกรรมภายในสนามกีฬาพระราเมศวร

 กิจกรรมภายในสนามกีฬาพระราเมศวรสามารถติดตามได้ใน >>> Facebook สนามกีฬาพระราเมศวร 

กลับสู่ด้านบน


 

banner traditional 01
หมู่บ้าน/ชุมชนวัฒนธรรม 
   - หมู่บ้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ไทยพวนตำบลบ้านทราย อำเภอบ้านหมี่  จังหวัดลพบุรี เป็นชุมชนวัฒนธรรมไทยพวน ตำบลบ้านทราย เป็นชุมชนที่มีชาวไทยพวนอาศัยอยู่ สืบเชื้อสายมาจากชาวพวนเมือง เชียงขวาง ประเทศลาวอพยพมาอยู่ที่ตำบลบ้านทราย เมื่อปี พ.ศ.2399 ปัจจุบันชุมชนไทยพวนตำบลบ้านทราย ได้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ จัดแสดงสิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงวัฒนธรรมของไทยพวน อาทิเครื่องปั้นดินเผา ใช้ในครัวเรือนการจำลองกวงเฮือน (ห้องนอน) การทำผ้าทอมัดหมี่ เรือโบราณ นางกวัก ตู้จัดแสดงเครื่องแต่งกายนอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงวัตถุสิ่งของ เครื่องใช้ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ ประชากรของไทยพวนบ้านทราย ยังมีการสืบทอดประเพณีที่ดั้งเดิมไว้ ได้แก่ ประเพณีเส่อกระจาด หลังเทศกาลออกพรรษา (ช่วงเดือนพฤศจิกายน) ซึ่งจัดก่อนวันเทศน์มหาชาติร่วมกันในวันรุ่งขึ้น ตามที่เชื่อกันว่าการได้ฟังเทศน์มหาชาติ  จบทั้ง 13 กัณฑ์ ในวันเดียวจะทำให้ได้บุญกุศลมาก ประเพณีกำฟ้า ตรงกับวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 (ประมาณเดือนกุมภาพันธ์) ซึ่งเป็นประเพณีเกี่ยวกับวิถีชีวิตของไทยพวนในด้านเกษตรกรรม เพื่อให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลจะมีการทำบุญข้าวจี่  ข้าวหลาม  ช่วงเย็นจะมีการละเล่น อาทิ การละเล่นนางกวัก การร้องหมอลำพวน การรำวง การเตะหม่าเบี้ย เป็นต้น ในวันนี้จะเป็นวันหยุดงานของชาวไทยพวน
   - ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทยเบิ้งบ้านโคกสลุง ตำบลโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ตำบลโคกสลุงเป็นชุมชนเก่าแก่มีข้อสันนิษฐานจากหลักฐานซากหินทรายและหินศิลาแลงจำนวนมากในบริเวณวัดโคกสำราญ และการศึกษาวิจัยสืบค้นจากวัฒนธรรม ของมหาวิทยาลัยมหิดล และกลุ่มนักวิชาการอื่นๆ อีกหลายสถาบัน พบว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้น่าจะมีการรวมกันสร้างที่อยู่อาศัยในบริเวณชุมชนแห่งนี้ ไม่ต่ำกว่า 260 ปี ชาวไทยเบิ้ง โคกสลุง มีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนการดำรงชีวิตที่เรียกว่าเป็นกลุ่ม “วัฒนธรรมไทยเบิ้ง” พูดภาษาถิ่นสำเนียงคล้ายภาษาไทยภาคกลางออกเสียงเหน่อ แต่ไม่เท่าสำเนียงสุพรรณบุรี สิ่งที่เป็นอัตลักษณ์เด่นชัดบอกความเป็นไทยเบิ้งโคกสลุง 3 ประการ ได้แก่ 1) การแต่งกายและของใช้ที่จำเป็น 2) สำเนียงการพูดออกเสียงเหน่อ 3) นามสกุล จะขึ้นต้นลงท้ายด้วย “สลุง”
   - ชุมชนวัฒนธรรมไทยรามัญบ้านบางขันหมาก ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ชุมชนมอญบางขันหมาก (ไทยรามัญ) ตั้งอยู่ห่างจากเมืองลพบุรีไปทางทิศตะวันตกเพียง 2-3 กิโลเมตร มีวัดสำคัญ ในหมู่บ้านสี่วัด คือ วัดอัมพวัน วัดราษฎร์ศรัทธาธรรม(วัดทุ่ง)วัดกลาง และวัดโพธิ์ระหัต ตามประวัติศาสตร์กล่าว คนมอญ เริ่มอพยพเข้าสู่ประเทศไทยหลายคราวด้วยกัน นับตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชา พ.ศ. 2112-2133 เป็นต้นมา สำหรับชาวมอญ ที่อพยพเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่ในจังหวัดลพบุรีนั้น น่าจะเป็นมอญที่อพยพมาจากชุมชนชาวมอญอื่นอีกทอดหนึ่งเชื่อว่าน่าจะอพยพมาทางใต้ คือ บ้านบางระกำ และทิศตะวันตก คือ บ้านโพธิ์ข้าวผอก ตำบลบางมัญ อำเภอเมือง จังหวัดสิงห์บุรี การแต่งกายของชาวมอญบางขันหมาก ชุมชนชาวมอญที่ตำบลบางขันหมากตั้งแต่รุ่นเล็กถึงรุ่นใหญ่ ยังคงแต่งกายแบบวิถีชีวิตชาวมอญดั้งเดิมที่ต้องคล้องสไบที่เรียกว่า “หยาดโด๊ด”ประกอบพิธีกรรมที่วัดของชาวมอญ สามารถใช้ได้ทั้งชายหญิง 
   

                                                               

        ประเพณีและงานประจำปี

 

KingNarai2016 5 

  - งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ 
ชาวลพบุรีเรียกงานนี้ว่า “งานในวัง” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหารายได้นำไปก่อสร้างอนุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยจะจัดในเดือนกุมภาพันธ์เพราะเป็นเดือนพระราชสมภพของสมเด็จพระนารายฺณ์มหาราช ในการจัดงานได้มีการถอดรูปแบบและจำลองเหตุการณ์ในครั้งประวัติศาสตร์ มีขบวนแห่ของชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาเจริญพระราชไมตรีและเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร มีการแต่งโคลง ฉันท์  กาพย์ กลอน และคำประพันธ์ต่าง ๆ มีร้านจำหน่ายและสาธิตสินค้า ตลอดจนขนมหวานในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการจุดประทีปโคมไฟเหมือนราตรีแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในอดีต  และส่งเสริมให้ชาวลพบุรีแต่งกายไทยทั้งเมือง

   

  - งานประเพณีกำฟ้า
เป็นงานบุญพื้นบ้านของชาวไทยพวน ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอบ้านหมี่ จัดขึ้นเพื่อขอพรจากเทพยดาผู้รักษาฟากฟ้า และบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลมักจะถือเอาวันขึ้น 2 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันสุกดิบ และวันรุ่งขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เป็นวันกำฟ้า  โดยชาวบ้านจะร่วมกันทำบุญใส่บาตรด้วยข้าวหลามและข้าวจี่  ตกบ่ายมีการละเล่นพื้นบ้าน เช่น มอญซ่อนผ้า ช่วงชัย หม่าเบี้ย และหมากันห่าน

   งานประเพณีแห่พระศรีอาริยเมตไตรย์ วัดไลย์ ประจำปี 2560 - งานประจำปี,ประเพณี  ประจำจังหวัด,77 จังหวัด

   - งานประเพณีชักพระศรีอาริยเมตไตรย์  
เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน หรือเรียกอีกอย่างว่าประเพณีแห่พระศรีอาริย์เมตไตรย์ ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง  คือ  ในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี หลวงพ่อจะประดิษฐานบนแท่นตะเฆ่ แล้วให้ประชาชนร่วมกันชักพระไปตามทางหลวง 3028 ท่าโขลง – บ้านหมี่ เริ่มจากวัดไลย์ไปสิ้นสุดที่โรงเรียนวัดท้องคุ้ง ซึ่งตลอดทางจะมีโรงทานสำหรับเลี้ยงอาหารหวาน – คาว บริการประชาชน และวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ไปตามถนนสายเลียบแม่น้ำบางขาม เริ่มจากวัดไลย์ ไปสิ้นสุดที่โรงเรียนวัดเทพอำไพ

   อาจเป็นรูปภาพของ 1 คน

  - งานเทศกาลกระท้อนหวานของดีเมืองลพบุรี
โดยจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงที่กระท้อนให้ผลิตผลได้เต็มที่เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกระท้อน และยังเป็นการผลักดันกระท้อนหวานให้เป็นที่รู้จักของตลาดทั้งในและต่างประเทศอีกทางหนึ่ง กิจกรรมที่น่าสนใจภายในงาน เช่น การประกวดผลิตภัณฑ์กระท้อน การประกวดธิดากระท้อนหวานและกระท้อนห่อ การจำหน่ายสินค้าด้านการเกษตร ต้นไม้ สินค้า OTOP และการแสดงของนักเรียน นักศึกษาทุกคืน

   - งานเทศกาลท่องเที่ยวทุ่งทานตะวันบาน
จังหวัดลพบุรีมีการปลูกทานตะวันมากที่สุดในประเทศไทย คือ ประมาณ 200,000–300,000 ไร่ ดอกทานตะวันจะบานสะพรั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน – มกราคม ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสกับความงดงามของธรรมชาติในทุ่งทานตะวันเหลืองอร่ามนับหมื่นไร่

   - งานเลี้ยงโต๊ะจีนลิง
เริ่มมีขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2532 สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดลพบุรีจนโด่งดังไปทั่วโลก และถูกจัดเข้าปฏิทินงานประจำปีของจังหวัด จัดขึ้นในวันอาทิตย์  สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤศจิกายน ณ บริเวณศาลพระกาฬและพระปรางค์สามยอดมีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เป็นที่สนใจสำหรับนักท่องเที่ยวในงานมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น  การเลี้ยงอาหารที่ตกแต่งอย่างสวยงามแก่ลิง การแสดงพื้นบ้าน

ใส่กระจาด

   - งานประเพณีใส่กระจาด
ภาษาพวน เรียกว่า “เส่อกระจาด” เป็นประเพณีของชาวไทยพวนซึ่งถือปฏิบัติกันในเขตอำเภอบ้านหมี่ มักจัดให้มีขึ้นในงานบุญเทศน์มหาชาติ ส่วนมากจะกำหนดในช่วงเทศกาลออกพรรษา (เดือน 11) ข้างแรมก่อนถึงวันใส่กระจาด 1 วัน ชาวบ้านจะช่วยกันทำขนมห่อข้าวต้ม ตำข้าวปุ้น รุ่งขึ้นจะเป็นวัน ใส่กระจาด ชาวบ้านจะนำของ เช่น กล้วย อ้อย ส้ม รูปเทียน หรืออื่น ๆ มาใส่กระจาดตามบ้านของคนรู้จัก เจ้าของบ้านจะนำอาหารที่เตรียมไว้มาเลี้ยงรับรองแขกเมื่อแขกกลับ เจ้าของบ้านจะนำข้าวต้มมัดฝากไปให้ เรียกว่า  “คืนกระจาด” ในวันรุ่งขึ้นเป็นวันเทศน์มหาชาติ จะนำของที่แขกมาใส่กระจาด ทำเป็นกัณฑ์  แล้วนำไปถวายพระที่วัด โดยถือว่าการทำบุญเทศมหาชาตินี้เป็นการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ประจำปี

          จังหวัดลพบุรีมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายทั้งด้านเชิงประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตชุมชน จากการสำรวจจำนวนผู้เยี่ยมเยือนที่เข้าชมพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และพระปรางค์สามยอด บ้านวิชาเยนทร์ พบว่ามีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนลดลง ผู้เยี่ยมเยือนนิยมมาเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งเป็นฤดูหนาว โดยนักท่องเที่ยวที่แวะเที่ยวก่อนที่จะเดินทางไปพักยังจังหวัดอื่นต่อหรือแบบเดินทางไปเช้า-เย็นกลับ หรือเรียกว่า “นักทัศนาจร”

ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภาษาถิ่น

จังหวัดลพบุรี มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย เนื่องจากเป็นดินแดนประวัติศาสตร์อันยาวนาน นับแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ จากหลักฐานบันทึกของชาวฝรั่งเศสต้นกรุงรัตนโกสินทร์มีกลุ่มชาติพันธ์ต่าง ๆ  เริ่มอพยพเข้าสู่จังหวัดลพบุรี เนื่องจากภาวะสงคราม การกวาดต้อนผู้คนมาเป็นเชลยหรืออพยพย้ายถิ่นฐานของคนอีสาน เพื่อเป็นแรงงานในการก่อสร้างเมือง ทำให้จังหวัดลพบุรี มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ อย่างน้อยมี 5 กลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ ได้แก่ กลุ่มคนไทยภาคกลางพื้นถิ่น  กลุ่มไทยเบิ้ง  กลุ่มมอญ (ไทยรามัญ)  กลุ่มลาวพวน หรือ ไทยพวน และกลุ่มจีน   

กลุ่มไทยเบิ้ง เป็นชุมชนที่อยู่อาศัยมาสมัยกรุงศรีอยุธยา ราวพุทธศตวรรษที่ 22-23 อพยพมาจากเมืองเวียงจันท์ประเทศลาวอาศัยบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก มีชุมชนใหญ่อยู่ที่บ้านมะนาวหวาน บ้านโคกสลุง อำเภอพัฒนานิคม และบ้านชัยบาดาล อำเภอชัยบาดาล อ.โคกสำโรง อ.สระโบสถ์
กลุ่มแง้ว มีถิ่นฐานอยู่ที่เวียงจันทร์และหลวงพระบาง ได้อพยพมา เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่ลพบุรี ตำบลพุคา อำเภอบ้านหมี่ ตำบลโคกลำพาน อำเภอเมืองลพบุรี 
กลุ่มมอญ (ไทยรามัญ) มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณสองฝั่งริมแม่น้ำลพบุรี สันนิษฐานว่าเป็นเป็นชาวมอญจากเมืองมอญ อพยพตามสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเข้ามา หลักประกาศเอกราช ณ เมืองแครง 
กลุ่มลาวพวน หรือ ไทยพวน กลุ่มนี้เคยมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่ประเทศลาว เมืองเชียงขวาง ได้อพยพมาหลายครั้ง ตั้งถิ่นฐานในเขตภาคกลางของไทยมานานนับแต่กรุงศรีอยุธยา จะอาศัยอยู่มากที่อำเภอบ้านหมี่ และอำเภอเมืองลพบุรี
กลุ่มจีน เป็นกลุ่มที่เข้ามาอาศัยมานาน ชอบค้าขายกระจายอยู่ตามอำเภอต่างๆของจังหวัดลพบุรี แต่กลุ่มที่ทำการศึกษา คือ กลุ่มจีน ที่ตำบลหนองเต่าเป็นชุมชนจีนเก่าแก่ ซึ่งยังคงรักษาวัฒนธรรมไว้เป็นอย่างดี

กลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดลพบุรี มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมและประเพณี รวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งคงรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรม ได้แก่ ภาษา การแต่งกาย และขนบธรรมเนียมประเพณี ไว้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้นจังหวัดลพบุรีจึงมีความพร้อมของทุนทางสังคมที่จะนำไปพัฒนาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ต่อไป

 


หน่วยงานภายนอก

                   

จำนวนผู้เข้าชม

9.png5.png5.png4.png1.png7.png
วันนี้784
เมื่อวาน1090
สัปดาห์นี้4107
เดือนนี้13527
ตั้งแต่เริ่ม955417

หมายเลขไอพ (IP Address) ของท่าน

  • IP: 3.133.111.29

ขณะนี้มีผู้เข้าชม

6
คน

15 สิงหาคม 2567
Don't have an account yet? Register Now!

Sign in to your account